Translate

คุยกับ “พี่ตุ่น” แอดมินเพจ คนรักเนินมะปราง


คุยกับ “พี่ตุ่น” แอดมินเพจ คนรักเนินมะปราง ครั้งหนึ่งกับยอดวิว 1.5 ล้าน และความมุ่งหวังในการปั่นเพื่อเนินมะปราง ครั้งที่ 2
By SOIKAWW COMEMARLAR·FRIDAY, 29 JANUARY 2016

“สิ่งที่ผมคาดหวังที่สุดกับงานนี้ ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์เนินมะปรางให้เป็นที่รู้จักอย่างแต่ก่อน ตอนนี้เนินมะปรางเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่งแล้ว แต่ที่ผมคาดหวังที่สุดคือ การได้เห็นชุมชนมีความตื่นตัว อยากให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เป็นเจ้าของงาน  มาเรียนรู้ร่วมกันกับความเปลี่ยนแปลงเรื่องการท่องเที่ยวที่จะเกิด”

 

งานปั่นเพื่ออนาคตเนินมะปราง ครั้งที่ 2 จ.พิษณุโลก กำลังจะเริ่มในอีกราวหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้านี้แล้ว (6 ก.พ.59) ช่วงนี้เพื่อนหลายคนอาจเห็นแบนเนอร์โปรโมทงานแพร่กระจายบนหน้าวอลล์โซเชียลมีเดีย พร้อมกับภาพทิวทัศน์บรรยากาศสวยๆ ของเนินมะปรางโดยเฉพาะเขาหินปูน หน้าผา ทุ่งนา ดอกไม้ สะท้อนให้เห็นถึงความสวยงามและวิถีชีวิตของชุมชนภาคการเกษตรของเนินมะปราง
เนินมะปรางได้ฉายาว่า กุ้ยหลินเมืองไทย กำลังเนื้อหอมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการบุกเบิกพื้นที่ที่มีธรรมชาติและวิถีชีวิตบริสุทธิ์  ดังนั้น การเตรียมพร้อมตั้งรับรูปแบบการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน เพื่อปรับสภาพสมดุลระหว่างเก่าและใหม่ให้ดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขจึงเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการมากที่สุด


พี่ตุ่น หรือ พิษณุชัย ทรงพุฒิ จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอำเภอเนินมะปราง หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคนหนึ่งของงานนี้ ได้เริ่มต้นเปิดเพจ คนรักเนินมะปรางเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว โดยผลงานภาพถ่ายสวยๆ ในหน้าเพจล้วนมาจากการถ่ายภาพของเขา ทั้งที่อุปกรณ์กล้องถ่ายรูป หรือสมาร์ทโฟนของเขานั้นรุ่นโบราณเทียว แต่ด้วยความรักชอบในการถ่ายภาพ พี่ตุ่นก็ยังหามุมภาพและจังหวะสวยๆ มาฝากแฟนเพจจนได้


กลุ่มคนรักเนินมะปราง เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ ปี 2556 จากการเปิดเฟซบุ๊คกรุ๊ปเฉพาะคนรู้จักของพี่ตุ่นไม่มากนักแล้วค่อยขยายกลุ่มไปเรื่อยๆ จนถึงราวสองร้อยคน แต่วันหนึ่งพี่ตุ่นก็มารู้ว่า การเปิดเพจนั้นดีกว่าเฟซบุ๊คกรุ๊ป สามารถเผยแพร่เรื่องราวของเนินมะปรางได้มากกว่า จึงได้เปิดเพจคนรักเนินมะปรางขึ้นมา และปัจจุบันหน้าเพจนี้มีคนติดตามถึงเกือบหนึ่งหมื่นสี่พันคน
ตลอดการเริ่มต้นตั้งกลุ่มคนรักเนินมะปรางขึ้นมา พี่ตุ่นไม่เคยคิดว่านี่ภาระหน้าที่ เพราะการงานที่ทำอยู่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย แต่เพราะสำนึกของความรักบ้านเกิด อยากเผยแพร่สิ่งที่ดี ที่น่าภาคภูมิใจของบ้านเกิดให้สาธารณะได้รู้จัก พี่ตุ่นจึงเริ่มต้นทำทั้งที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีในระดับที่น้อยมาก


“ผมรู้จักเครื่องไม้เครื่องมือพวกนี้น้อยมากครับ แทบไม่เป็นเลย ก่อนนี้ก็ทำงานบริษัท ตอนเรียนก็เรียนสาขาพัฒนาชุมชน (หัวเราะ) ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสื่ออะไรเลย แต่มันมีอยู่ช่วงหนึ่งผมต้องออกจากกรุงเทพกลับมาอยู่บ้าน พี่ชายมีคอมพิวเตอร์อยู่ ผมก็ค่อยได้เรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์ ได้รู้จักเฟซบุ๊ค และก็เลยเริ่มทำกลุ่มคนรักเนินมะปรางขึ้นมา”


“ผมเกิดและโตที่เนินมะปราง แต่พอ ม.4 ก็ไปเรียนในเมือง ใช้ชีวิตในเมือง จนจบม. 6 แล้วต่อป.ตรี จากนั้นก็ไปทำงานกรุงเทพ ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้กลับมาอยู่ที่นี่ แต่วันหนึ่งพอได้ย้อนกลับมาบ้านเกิด เราก็อยากทำอะไรเพื่อบ้านเกิดบ้าง ที่นี่เนินมะปรางมีธรรมชาติที่สวยงาม แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี ก็มาใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อเผยแพร่ ผมอยากทำให้เนินมะปรางเป็นที่รู้จักต่อสังคมไทย”

การเปิดหน้าเพจเนินมะปรางทำให้พี่ตุ่นพบค้นพบถึงแสนยานุภาพของสื่อโซเชียลมีเดียที่เรียกว่าเฟซบุ๊ค หรือ เพจเฟซบุ๊ค เพราะภาพเพียงภาพเดียวของเนินมะปรางสามารถเรียกคนเข้ามาดูได้ถึง 1.5 ล้านคนได้ จึงทำให้หน้าเว็บเพจของเขาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และโดยเฉพาะในจังหวัดพิษณุโลก


การเข้ามาดูของคนจำนวนมาก ทั้งยอดไลค์หลักหลายร้อยหลักพันทำให้เขายิ่งมีกำลังใจขยันออกไปถ่ายรูปมาอัพเดทให้แฟนเพจได้ดูอยู่บ่อยๆ ภาพในหน้าเพจของเขาสวยงาม แต่จะมีสักกี่คนจะรู้ว่า พี่ตุ่นใช้อุปกรณ์ที่เก่ามาก แม้กระทั่งสมาร์ทโฟนก็ใช่ว่าจะถ่ายปุ๊บแล้วอัพขึ้นหน้าเพจได้ทันที ส่วนมากพี่ตุ่นจะนำมาโหลดลงคอมพิวเตอร์ก่อน ได้ปรับแสง ปรับสี อีกนิดหนึ่ง ถึงจะนำมาลงหน้าเพจได้

“กล้องที่ผมใช้ถ่ายไม่ค่อยสวย คอมที่ใช้ก็เป็นคอมของพี่ชาย พอดีมันมีโปรแกรมแต่งภาพอยู่ จากภาพที่สีไม่สวย พอปรับสีนิดหนึ่งก็ทำให้ภาพสีสดขึ้นมาได้ มีความสว่าง มีความเข้ม ถึงทำให้ภาพดูดีขึ้น แต่ผมจะไม่แต่งถึงขนาดให้ภาพดูเกินจริง เอาแค่ให้ภาพสีสดใสขึ้น เรื่องเทคนิคการถ่ายภาพอะไรผมไม่มีเลย ผมไม่เคยเรียนมา แต่ว่าผมออกไปถ่ายทุกวัน พอถ่ายทุกวัน เราก็ได้เรียนรู้ ก็ทำให้เรารู้จักเลือกมุมกล้องมากขึ้น”


พี่ตุ่นออกไปถ่ายรูปที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเนินมะปรางทุกวัน ด้วยใจรักใจชอบ จนวันหนึ่ง ที่เนินมะปรางมีกิจกรรมปั่นเพื่อเนินมะปรางครั้งแรก พี่ตุ่นก็ออกไปถ่ายรูปและนำมาอัพเดทหน้าเพจ หลายเดือนให้หลังเขาจึงมีโอกาสรู้จักคณะทำงานงานปั่นครั้งแรก และนั่นเองที่นำมาสู่กิจกรรมการปั่นเพื่อเนินมะปรางเป็นครั้งที่สอง

คณะทำงานปั่นเพื่อเนินมะปรางชุดแรก ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักกิจกรรมในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องการปกป้องรักษาสภาพแวดล้อมให้เนินมะปราง ได้กลายเป็นเพื่อนใหม่ที่พี่ตุ่นรู้สึกประทับใจมาก เขารู้สึกว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากกลุ่มเพื่อนใหม่เหล่านี้ ได้เปิดโลกทัศน์ ภูมิทัศน์ หลายด้าน ทั้งมิติของสังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยีการสื่อสาร การท่องเที่ยวชุมชน และแนวทางการทำงานที่ค่อนข้างเป็นอิสระ เอาใจรักเข้าว่า ทำให้ที่สุดการชักชวนกันจัดกิจกรรมปั่นเพื่ออนาคตเนินมะปราง ครั้งที่ 2 ก็ได้ก่อรูปก่อร่างขึ้น ซึ่งครั้งนี้พี่ตุ่นไม่ได้มีตำแหน่งเป็นแอดมินเพจคนรักเนินมะปรางอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้รับมอบหมายหน้าที่จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอำเภอเนินมะปรางให้เป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศูนย์ ทำให้พี่ตุ่นประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้คล่องตัวขึ้น


การปั่นเพื่อเนินมะปรางครั้งที่ 2 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนได้จัดการระบบการท่องเที่ยวของตนเองอย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิต และมีรายได้หมุนเวียนภายในชุมชน อีกทั้งป้องกันการขยายตัวของแหล่งทุนภายนอกที่อาจเข้ามาปรับแต่งจนพื้นที่เสียหายเหมือนที่ได้เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ หลายแห่งในประเทศ

งานนี้ พี่ตุ่นนับเป็นเฟืองตัวสำคัญในการประสานพื้นที่ครั้งนี้ที่พยายามเชื่อมโยงกับท้องถิ่นหลายแห่ง ประสานชาวบ้าน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกับคณะทำงานชุดเดิมที่ยังคงมีความมุ่งหวังให้เนินมะปรางคงทรัพย์ในดินสินในน้ำให้กับลูกหลานตลอดไป


“สำหรับการปั่นครั้งนี้ ถ้าถามความมุ่งหวังผม อาจไม่เหมือนแต่ก่อนที่อยากให้สังคมภายนอกได้รู้จักเนินมะปราง ตอนนี้ผมว่าคนทั่วไปรู้จักเนินมะปรางมากระดับหนึ่งแล้ว แต่ที่ผมคาดหวังมากที่สุดคือ การได้เห็นชุมชนมีความตื่นตัว อยากให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับงานนี้ให้มากที่สุด มาเป็นเจ้าของงานร่วมกัน  ท้องที่ท้องถิ่น คนในพื้นที่ มาเรียนรู้ร่วมกันกับความเปลี่ยนแปลงเรื่องการท่องเที่ยวที่จะเกิด เรามีดีอะไร เราจะจัดการอย่างไร เราจะเอาอะไรเป็นจุดขาย จะรักษาอย่างไร อยากให้มาร่วมกันคิด นี่คือความคาดหวังที่สุดของผมกับงานครั้งนี้”


(หมายเหตุ : ภาพประกอบทั้งหมดถ่ายโดย พี่ตุ่น พิษณุชัย ทรงพุฒิ ยกเว้นภาพปกโดย สื่อเล็กๆ ขบวนชุมชน)

ขอขอบคุณข้อมูลการสัมภาษณ์จาก https://www.facebook.com/soi.soija
ขับเคลื่อนโดย Blogger.